อะไรคือ เพร็พกับเป๊ป
เพร็พกับเป๊ป นั้นมีความแตกต่างกันในแง่ของสถานการณ์การใช้งาน ยาเพร็พ (PrEP) หรือภาษาอังกฤษที่ว่า Pre-Exposure Prophylaxis คือ ยาที่ใช้รับประทานเพื่อป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีก่อนที่จะมีความเสี่ยง เรียกง่ายๆ ว่าเป็นยาที่ทานก่อนมีเซ็กส์นั่นเอง ส่วนยาเป๊ป (PEP) ภาษาอังกฤษเรียกว่า Post-Exposure Prophylaxis คือ ยาที่ใช้รับประทาน เพื่อป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีหลังมีความเสี่ยง หรือทานในกรณีฉุกเฉินไม่เกินระยะเวลา 72 ชั่วโมง ซึ่งตัวยาทั้งสองนี้ช่วยให้คนที่มีความเสี่ยงสูง ในการติดเชื้อเอชไอวี ได้รับการป้องกันอย่างมีประสิทธิภาพ และปลอดภัย
เพร็พกับเป๊ป คืออะไร?
คือ ยาชนิดรับประทานที่มีประโยชน์ในการป้องกันการติดเชื้อไวรัสเอชไอวี โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับกลุ่มผู้ที่มีความเสี่ยงสูงในการติดเชื้อ ได้แก่
- มีเพศสัมพันธ์โดยไม่ได้ป้องกัน
- ใส่ถุงยางอนามัยขณะมีเพศสัมพันธ์แต่เกิดการแตกรั่ว
- มีเพศสัมพันธ์กับคู่นอนที่มีผลเลือดบวก
ยาเพร็พ PrEP (Pre-Exposure Prophylaxis)
คือ การใช้ยาเพื่อป้องกันการติดเชื้อเอชไอวี ก่อน ที่จะมีความเสี่ยง ซึ่งมีตัวยาสำคัญใน 1 เม็ดประกอบไปด้วย Emtricitabine (FTC) ขนาด 200 มิลลิกรัม และ Tenofovir (TDF) ขนาด 300 มิลลิกรัม หลังจากที่คุณใช้เพร็พแล้ว ตัวยาจะออกฤทธิ์ ช่วยลดความเสี่ยงในการติดเชื้อเอชไอวี โดยต้องทานยานี้เป็นประจำทุกวัน ในเวลาเดียวกัน เพื่อให้ได้ประสิทธิภาพอย่างเต็มที่
ใครบ้างที่ควรใช้ยาเพร็พ?
ผู้ที่ควรพิจารณาใช้ยาเพร็พ (PrEP) คือ ผู้ที่มีความเสี่ยงสูงในการติดเชื้อเอชไอวี เช่น
- ผู้ที่มีเพศสัมพันธ์โดยไม่ได้ใช้ถุงยางอนามัย
- ผู้ที่มีคู่นอนติดเชื้อเอชไอวี หรือมีผลเลือดบวก
- ผู้ที่มีประวัติเคยเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ในอดีต
- ผู้ที่มีการใช้ยาเสพติดชนิดฉีดเข้าเส้น หรือดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ
- ชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชายผ่านทางทวารหนักโดยไม่สวมถุงยางอนามัย
ยาเพร็พนี้ จะสามารถใช้ได้กับคนที่ยังไม่มีเชื้อเอชไอวีเท่านั้น และควรสวมถุงยางอนามัยควบคู่ไปกับการทานยานี้อย่างเคร่งครัด สิ่งที่ควรรู้ไว้ทั้ง เพร็พกับเป๊ป ไม่อาจป้องกันการตั้งครรภ์ที่ไม่พึงประสงค์ในผู้หญิง โรคติดเชื้อแบคทีเรีย และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้ การสวมถุงยางอนามัยจึงมีความจำเป็นอย่างมาก
จำไว้ว่ายาเพร็พจะมีประสิทธิภาพดี เมื่อรับประทานอย่างต่อเนื่องและถูกต้องตามคำแนะนำของแพทย์ สำหรับผู้ชายควรทานยาก่อนมีความเสี่ยงล่วงหน้า 7 วัน และผู้หญิงควรทานยาก่อนมีความเสี่ยงล่วงหน้า 20 วัน เพื่อให้ตัวยาได้คงอยู่ในกระแสเลือด และทำหน้าที่ได้อย่างสมบูรณ์
ผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นได้เมื่อทานยาเพร็พ
การใช้ยาเพร็พอาจส่งผลข้างเคียงได้บ้าง ซึ่งเป็นอาการที่ไม่รุนแรง โดยพบบ่อย คือ
- คลื่นไส้ ท้องเสีย น้ำหนักลดลง
- ปวดศีรษะ และเวียนศีรษะ
- เหนื่อยง่าย อ่อนเพลีย นอนไม่ค่อยหลับ
- มีผื่นขึ้นตามร่างกาย
สำหรับผู้ที่มีประวัติเคยแพ้ยา หรือเคยมีปัญหาต่อเนื่องจากการใช้ทานยาเพร็พ ควรแจ้งให้แพทย์ทราบก่อนเริ่มใช้ และควรให้ข้อมูลตามจริงเกี่ยวกับประวัติการแพ้ยา หรือโรคประจำตัวอื่นๆ ที่เคยเป็นมาก่อน เพื่อป้องกันอาการแพ้ยาหรือผลข้างเคียงที่รุนแรง นอกจากนี้ การทานยาเพร็พ ยังต้องมีการติดตามผล และเข้ารับการตรวจสุขภาพอย่างสม่ำเสมอเพื่อยืนยันผลว่าคุณปลอดจากเชื้ออยู่ตลอดระยะเวลาที่ทานยา
ยาเป๊ป PEP (Post-Exposure Prophylaxis)
คือ การใช้ยาเพื่อป้องกันการติดเชื้อเอชไอวี หลัง มีความเสี่ยง ซึ่งมีสูตรยาที่หลากหลายทั้งนี้ต้องขึ้นอยู่กับแพทย์ผู้จ่ายยาว่าจะพิจารณาเลือกยาเป๊ปสูตรไหนให้คุณรับประทาน โดยจะต้องทานยาชนิดนี้หลังมีความเสี่ยงใน 72 ชั่วโมงและทานต่อเนื่อง เป็นการรักษาจำนวน 28 วันหรือตามแพทย์สั่ง
ใครบ้างที่ควรใช้ยาเป๊ป?
ผู้ที่ควรพิจารณาใช้ยาเป๊ป (PEP) คือ ผู้ที่มีโอกาสติดเชื้อเอชไอวีจาก:
- การมีเพศสัมพันธ์โดยไม่สวมถุงยางอนามัย
- การใช้เข็มฉีดยาเสพสารเสพติดร่วมกับผู้อื่น
- การถูกล่วงละเมิดทางเพศ ข่มขืน หรือมีเพศสัมพันธ์ขาดสติ
- การถูกเครื่องมือแพทย์ของผู้ติดเชื้อเอชไอวีทิ่มตำหรือบาดมือ
- สวมถุงยางอนามัยและเกิดการฉีกขาด หรือหลุดรั่ว ขณะมีเพศสัมพันธ์
อย่างไรก็ตาม ยาเป๊ปไม่เหมาะกับการใช้เป็นวิธีการป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีในระยะยาว การใช้ยาเป๊ปเองก็ไม่ได้รับการรับรองว่า จะสามารถป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีได้ 100% ดังนั้น การป้องกันตัวเองที่ถูกต้องไว้ก่อนแก้ ย่อมเป็นสิ่งที่ดีกว่า หลังจากเริ่มรับประทานยาเป๊ปแล้ว ห้ามหยุดยาก่อนกำหนดโดยเด็ดขาด ไม่ว่าจะมีผลข้างเคียงหรือไม่ก็ตาม และควรกลับไปตรวจเอชไอวีอย่างน้อย 3 ครั้ง ในระยะเวลา 6 เดือน หลังจากทานยาเป๊ป เพื่อตรวจสอบว่ามีการติดเชื้อหรือไม่
ผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นได้เมื่อทานยาเป๊ป
เป็นไปได้ว่ายาเป๊ป (PEP) อาจทำให้เกิดผลข้างเคียงได้ แต่ไม่ใช่กับทุกคนที่ใช้ยานี้ โดยผลข้างเคียงเหล่านี้จะไม่รุนแร และสามารถหายไปเองภายในไม่กี่วัน หลังจากเริ่มใช้ยาเป๊ป ได้แก่
- ปวดศีรษะ เวียนศีรษะ
- มีอาการคลื่นไส้ ท้องเสีย
- รู้สึกอ่อนเพลีย น้ำหนักตัวลด เบื่ออาหาร
แต่หากผู้ใช้ยาเป๊ปมีอาการผิดปกติที่รุนแรงขึ้น เช่น มีผื่นขึ้น ปัสสาวะบ่อยหรือมีเลือดออก ควรรีบพบแพทย์ทันที เพื่อรับการตรวจและการรักษาที่เหมาะสม เนื่องจากอาการเหล่านี้ อาจเป็นสัญญาณของอาการแพ้ยา หรือภาวะตับเสื่อม ซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพได้
ใช้ยาเป๊ปหลังมีความเสี่ยงทุกครั้งได้ไหม?
การที่จะทานยาเป๊ปทุกครั้ง หลังจากมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ปลอดภัย ไม่ควรทำเป็นอย่างยิ่ง เพราะยาเป๊ปเป็นการรักษาที่มีความเหมาะสมสำหรับผู้ที่เคยเผชิญกับความเสี่ยงทางเพศแล้ว ไม่ใช่วิธีการป้องกันทางเพศที่เหมาะสมสำหรับผู้ที่ทำกิจกรรมทางเพศโดยไม่มีการป้องกันอย่างเคร่งครัด การใช้ยาจำพวกนี้ ควรเน้นความปลอดภัยของสุขภาพเป็นสำคัญและใช้เมื่อมีความจำเป็นเท่านั้น
รวมไปถึง การใช้ยาเป๊ปควรอยู่ภายใต้คำแนะนำ และการตรวจวินิจฉัยจากแพทย์ เพื่อป้องกันผลข้างเคียงที่เป็นไปได้ และเพื่อให้ได้ผลการรักษาที่ดีที่สุด อย่าลืมว่าการใช้ เพร็พกับเป๊ป ไม่ได้รับการรับรองว่าจะป้องกันโรคได้ 100% ดังนั้น การใช้มีความจำเป็นต้องคำนึงถึงความเสี่ยง และเป็นไปตามคำแนะนำของแพทย์
อ่านบทความอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
รักษาซิฟิลิส ไม่ต่อเนื่อง เสี่ยงอันตราย
รักษาหูดข้าวสุก ด้วยตัวเอง ทำได้หรือไม่
ถึงแม้ว่า เพร็พกับเป๊ป จะใช้ป้องกันเชื้อเอชไอวี เรียกว่าเป็นยารักษาที่ใช้เพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อโดยเฉพาะในกลุ่มผู้ที่มีความเสี่ยงสูงได้ ยาทั้งสองชนิดมีประสิทธิภาพสูงได้รับการยอมรับจากทั่วโลกในการป้องกัน อีกทั้งยังเพิ่มความมั่นใจให้กับคนที่มีความเสี่ยง และช่วยลดความวิตกกังวล แต่อย่างที่เน้นย้ำไปข้างต้นว่า เพร็พกับเป๊ป ยังไม่สามารถป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่นๆ เช่น เริม หนองในแท้ หนองในเทียม ซิฟิลิส เป็นต้น คุณจึงควรให้ความสำคัญกับการป้องกันด้วยถุงยางอนามัยและหมั่นไป ตรวจคัดกรองเชื้อเอชไอวี เป็นประจำทุกปีครับ